"7 เทคนิค ฟันกำไร หุ้นเดย์เทรด"

"7 เทคนิค ฟันกำไร หุ้นเดย์เทรด"
ติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือ "7 เทคนิค ฟันกำไร หุ้นเดย์เทรด" คลิ๊กโลดครับ

Friday, January 7, 2011

เส้นทางอาชีพธุรกิจหลักทรัพย์...รุ่งหรือร่วง...มันอยู่ที่คุณ!! ไม่ใช่ใคร!!

พอดีไปอ่านเจอบทความน่าสนใจบทความนึงจากเว็บ http://www.soccersuck.com/soccer/viewtopic.php?t=371524 ครับ...ก็เลยอยากจะมาแบ่งปันเพื่อนๆ โดยเฉพาะน้องๆที่เรียนใกล้จบ และคิดจะหางานทำ หรือไม่ก็สำหรับผู้ที่สนใจจะทำงานในสายหลักทรัพย์ครับ...มีประโยชน์มากๆเลย..


ลองอ่านดูน่ะครับ แล้วจะรู้ว่าอาชีพในสายธุรกิจหลักทรัพย์ มันมีมากกว่าโบรกเกอร์ครับ อีกอย่าง เมื่อถึงปีหน้า 2555 ธุรกิจหลักทรัพย์ จะมีการปรับตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากการเปิดเสรี สงครามราคาจะเกิดขึ้น การแข่งกันลดค่าคอมฯ ซึ่งจะทำให้อาชีพเจ้าหน้าที่การตลาดอยู่ในฐานะที่ลำบากทีเดียว


โครงสร้างตลาดทุน




ตลาดแรก คือ ตลาดที่เจ้าของกิจการใช้ระดมทุน จากนักลงทุน 

ตลาดรอง คือ ตลาดที่นักลงทุน ใช้ในการบริหารสภาพคล่อง 
เพราะสินทรัพย์ที่ดี จะต้องมีสภาพคล่อง (คือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย) 

ตลาดรอง 

ก็มีทั้งการซื้อขายในตลาดที่จัดตั้งเป็นทางการ และตลาดที่ไม่เป็นทางการ 
การซื้อขายในตลาดที่มีการจัดตั้งฯ ก็คือ การซื้อขายผ่าน ตลาดหลักทรัพย์ 
ซึ่งแยกตาม ลักษณะของตราสารทุน เช่น 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซื้อขาย ตราสารเป็นหลักทรัพย์ 
ตามนิยามของ พรบ. หลักทรัพย์ เช่น หุ้น วอแรนท์ กองทุนรวมอสังหาฯ ETF เป็นต้น 

ตลาด MAI ซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับธุรกิจที่มีขนาดย่อม และกำลังเติบโต 

ตลาดรองตราสารหนี้ (BEX) ซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้ 

ตลาดซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารอนุพันธ์ 
ตาม พรบ. ซื้อขายล่วงหน้าฯ 

การซื้อขายในตลาดที่ไม่เป็นทางการ ก็คือ คู่ค้าจะตกลงกันเอง 
เราเรียกรายการดังกล่าวว่า รายการ Put Through 


บุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์






ธุรกิจหลักทรัพย์ ถือว่า เป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง ดังนั้นสายวิชาที่เกี่ยวข้อง 
โดยตรง ก็หนีไม่พ้น สายบริหารธุรกิจ เช่น การบัญชี การเงิน การตลาด การจัดการ 
และสายเศรษฐศาสตร์ ซึ่งรวมไปถึง สายคณิตศาสตร์ ด้วย 

แกนหลัก ในการทำงานภาคการเงิน สรุปได้โดยกว้างว่า 
ต้องประกอบไปด้วย ทักษะ ด้าน การบัญชี ด้านคณิตศาสตร์และสถิติ 
ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นพื้นฐานสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม การทำงาน ไม่เหมือนการเรียนหนังสือ เพราะไม่มีอะไรตรงตัว 
ทุกๆ อย่าง ต้องการความรู้ที่หลากหลาย เรียกว่า บูรณาการศาสตร์ หรือ มีทักษะหลายด้าน 
ในตัวคนๆ เดียว หรือ สหวิชาชีพ คือ หลายๆ สาขา ทำงานร่วมกัน เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน 

สายวิชาชีพอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาท ในธุรกิจหลักทรัพย์ 
และทวีความสำคัญเป็นลำดับ หลายสายงาน เช่น นิติศาสตร์ เนื่องจาก 
การทำธุรกรรมใจปัจจุบัน มีความสลับซับซ้อน และ มีประเด็นทางของกฎหมาย 
มากมาย หรือ สายวิศวกรรมศาสตร์ สายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ 

ซึ่งเมื่อบูรณาการวิชาความรู้ทั้งหลาย เพื่อประยุกต์ใช้งานได้จริงแล้ว 
ก็จะเรียกว่า เป็น ผู้มีวิชาชีพทางด้านการเงิน ซึ่งแตกแขนงออกไปเป็นหลายสายงาน 
แบ่งเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ 

หน้าบ้าน (Front Office) กับ หลังบ้าน (Back Office) 

.......................................................................................................... 

หน้าบ้าน หรือ Front Office ได้แก่ หน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการหารายได้ 
เข้าองค์กร ซึ่งมีหลายสายงาน เช่น 


Corporate Finance หรือการบริหารการเงินขององค์กร เช่น จัดการสภาพคล่อง 
ลงทุนเพื่อบริษัท บริหารสินทรัพย์ หนี้สิน เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่องค์กร 
หน่วยงานที่เริ่มทวีความสำคัญในธุรกิจหลักทรัพย์ ที่อยู่ในสายงานนี้ ได้แก่ 
Proprietary Trading หรือ การซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบริษัท 

Investment Banking หรืองานด้าน วาณิชธนกิจ ได้แก่ 
งานเป็นที่ปรึกษาการเงิน (Financial Advisor)ในการระดมทุน 
ปรับโครงสร้างบริษัท เพื่อเข้าระดมทุน และจดทะเบียนในตลาดฯ 
การจัดจำหน่วยหุ้น (Underwriting) เป็นต้น 

Fund Management หรือ การจัดการกองทุน ซึ่งมีตั้งแต่ การเป็นผู้ขายหน่วยลงทุน 
ไปจนถึง ผู้จัดการกองทุน ซึ่งมีหน้าที่ในการ บริหารกองทุนให้เป็นไปตาม 
วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับ ผู้ถือหน่วยลงทุน 

Securities Brokerage หรือ การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 
ซึ่งทุกคนรู้จักกันดี ในนาม เจ้าหน้าที่การตลาด (MKT) ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้า 
ให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวก อันที่จริง งาน MKT เป็นงานบริการ 
มากกว่างานวิเคราะห์ครับ แต่ MKT ที่ดีก็ต้องรู้จักลูกค้า และรู้ว่า ควร 
ให้ข้อมูลอะไรแก่ลูกค้า เช่น ลูกค้าเล่นหุ้นกลุ่มไหน ข่าวไหนเป็นข่าวที่ 
ลูกค้าควรสนใจ คือ ต้องสรุปใจความสำคัญเป็น 

.......................................................................................................... 

หลังบ้าน หรือ Back Office ได้แก่หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน 
แก่ Front Office งานของ BO ไม่สร้างรายได้ แต่ สำคัญกับบริษัท 
สายงานที่น่าสนใจ ในธุรกิจนี้ ได้แก่ 

งาน บัญชี / การเงิน (F/A) ซึ่งจะมีความซับซ้อนกว่าการทำบัญชีธรรมดา 
เพราะต้องมีแบบรายงาน นอกเหนือจาก งบทางบัญชีต่างๆ ส่งให้ทางการ 
เช่น การแบ่งแยกทรัพย์สินของลูกค้า การบริหารสภาพคล่อง NCR 
(Net Capital Rule) ตามที่กฎหมายกำหนด (คล้ายๆ กับเงินสำรอง 
ตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์) 
รวมถึง การบริหารสภาพคล่อง และ ทำดีลกับทางธนาคาพาณิชย์ 


ปฎิบัติการหลักทรัพย์ (Operations) ถ้าบัญชี / การเงิน 
ดูแลการเงินของบริษัท และลูกค้า ฝ่ายปฎิบัติการหลักทรัพย์ 
ก็มีหน้าที่ ดูแลหุ้น และทรัพย์สินอื่นๆของบริษัท และลูกค้า 
รวมไปถึง การติดต่อกับลูกค้าเกี่ยวกับ การดำเนินการอื่นๆ เช่น 
ขอเพิ่มวงเงิน ติดตามทวงหนี้ การชำระราคา การเรียกหลักประกัน 
การบังคับขาย การล็อคบัญชีลูกค้า การเพิ่ม ลด วงเงิน ทบทวนข้อมูลลูกค้า 
เป็นต้น ถือว่า เป็นแม่บ้านตัวจริงของ บริษัทหลักทรัพย์ 

บริหารความเสี่ยง (Risk Management) หน่วยงานหลักในการวิเคราะห์ 
และทำการทดสอบสมมติฐาน หรือ Scenario Analysis ในเคสต่างๆ 
ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อบริษัทมีการทำธุรกรรมใดๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบริษัท 
ฝ่ายนี้ ไม่สนใจกำไร แต่สนใจความเสี่ยง ซึ่งจะคานกันกับ Front Office 
เพราะ Front จะเห็นกำไรมาก่อน แต่โอกาสการทำกำไร จะมีโอกาสที่จะพลาด 
และเกิดผลเสียขึ้นด้วย สิ่งนั้นเรียกว่า ความเสี่ยง 

กำกับ และตรวจสอบ (Compliance and Internal Audit) 
หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับ และตรวจสอบตามชื่อ เพื่อให้บริษัทดำเนินงานได้ 
โดยไม่ไปทำผิดกฎหมาย ซึ่ง การแสวงหากำไรของบริษัท บางครั้งจะไป 
เอาเปรียบลูกค้า หรือ คู่ค้า คู่กรณี คู่เจรจา ต่างๆ ซึ่งเมื่อมันหลุดไปจาก 
กลยุทธ์ทางธุรกิจ ไปสู่การเอาเปรียบ และผิดกฎหมาย ฝ่ายนี้จะเข้ามาดูแล 
รวมถึงเป็นที่ปรึกษา ในการดำเนินธุรกิจในทุกๆ กรณีด้วย 

เป็นหน่วยงานอิสระ มีอำนาจตรวจสอบ และเข้าถึง ข้อมูลลับของบริษัท 
ในทุกระดับชั้น ขึ้นตรงกับ กรรมการตรวจสอบ ไม่ขึ้นกับ CEO 

วิเคราะห์หลักทรัพย์ (Research) จัดทำบทวิเคราะห์ หลักทรัพย์รายตัว 
วิเคราะห์สภาพแวดล้อม ปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต่างประเทศ 
วิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน และ เทคนิค อบรม สัมมนา ให้ความรู้ 
เจ้าหน้าที่การตลาด และ ลูกค้า 

เป็นสายที่ต้องการ สหวิชาชีพ อย่างมาก เพราะต้องรู้จริงเกี่ยวกับ 
ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ ในตลาดหุ้น เช่น ภาคอสังหาฯ 
ภาคโทรคมนาคม สื่อ และการพิมพ์ เป็นต้น 





เป็นอย่างไรบ้างครับ...คงได้ความรู้กันเต็มๆเลย...ช้อบชอบบทความแนวนี้ ได้ประโยชน์มากมาย...ขอบคุณผู้ที่เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาครับ..^___^


โชคดีครับเพื่อนๆ 


Wizard Kid (พีร์)


14:15 น.


No comments:

Post a Comment