"7 เทคนิค ฟันกำไร หุ้นเดย์เทรด"

"7 เทคนิค ฟันกำไร หุ้นเดย์เทรด"
ติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือ "7 เทคนิค ฟันกำไร หุ้นเดย์เทรด" คลิ๊กโลดครับ

Tuesday, November 5, 2013

“สันติ สิงหวังชา” ...เสือหนุ่ม..ไฟแรง


เครดิต: Investor Station ฉบับที่ 137-145 ประจำวันที่ 1-11 มิถุนายน 2552

จากดีกรีในการจัดการพอร์ตหุ้นที่ไม่ธรรมดาเพียงแค่ 6 ปีของการเข้าวงการ “สันติ สิงห์วังชา” สามารถสร้างผลตอบแทนได้แล้วกว่า 27 เท่าตัว ด้วยแนวคิดที่เรียบง่าย ลุ่มลึก สุขุมใจเย็น จนได้รับรางวัลผู้ถือหุ้นคุณภาพมาแล้ว เชิญพบกับทายาทสังกัดมวยชื่อดังผู้ได้รับชัยชนะบนสังเวียนหุ้นของ “สันติ สิงห์วังชา”
ความเคลื่อนไหวในรอบปี
ก็ปรับพอร์ตหุ้นตลอดเวลา โดยการขายออกและซื้อเข้าจำนวนเท่าๆ กัน เพราะโดยปกติแล้วผมจะไม่ถือเงินสด ซึ่งถ้าอยากจะซื้อหุ้นก็ต้องขายตัวอื่นเพื่อเอาเงินมาซื้อ ไม่มีแบบที่ว่าขายแล้วเก็บเงินสดๆ ไว้รอซื้อหุ้นอย่างนี้ไม่มี
ดัชนี 400 จุด ขายขาดทุน?
โดยปกติผมเล่นหุ้นจะไม่ดูต้นทุนตัวเอง ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีต้นทุนเท่าไหร่ จะวัดผลงานของตัวเองโดยจะดูว่าต้นปีมูลค่าสินทรัพย์รวมมีเท่าไหร่ และปัจจุบันมีเท่าไหร่ โดยจะแทร็คทุกๆ ปี พูดง่ายๆก็คือดูเป็นพอร์ตรวม ไม่ได้มานั่งดูต้นทุนราคาเป็นรายตัวว่าขายไปขาดทุนหรือกำไร แต่ถ้าหากไปมองตัวเลขจริงๆ ก็มีทั้งขาดทุนทั้งกำไรผสมกันแล้วแต่ช่วง
มองแค่ส่วนต่าง
ที่ไม่มาสนใจต้นทุนราคาเป็นรายตัวเพราะความสำคัญในการซื้อหุ้นมันอยู่ที่ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ราคาจะขึ้นได้อีกเท่าไหร่ แต่ราคาที่เราซื้อมาไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย ดังนั้นผมจึงไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมาก ทั่วไปนักลงทุนอาจจะเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ตว่าเขามีหุ้นอะไรที่ราคาเท่าไหร่แต่ผมจะไม่เข้าไปดู จะใช้วิธีบันทึกว่ามีหุ้นนี้ จำนวนแค่นี้ และก็แยกทำต่างหากใส่ไว้ในโปรแกรมเอ็กเซลล์ ซึ่งมันจะเป็นการตัดอคติของตัวเอง นั่นหมายความว่าในพอร์ตผมจะแยกมองหุ้นในด้านคุณภาพและด้านราคา โดยไม่เอามาปนกัน
อย่างเช่นถ้าถือหุ้นอยู่ตัวหนึ่ง แล้วราคามันลงมาเยอะก็จะทำให้เราใจเสียได้ หรือ ถ้ามันขึ้นเยอะๆ ก็ทำให้เราอยากขายก็ได้ แต่ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า ณ ราคาปัจจุบันมันจะขึ้นได้อีกเท่าไหร่ อย่างเช่นผมมีหุ้นต้นทุนที่ 10 บาทแต่มันลงมาเยอะๆ และผมคำนวณแล้วว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปราคาเป้าหมายจะเป็น 5 บาท ต่อให้ทุนผม 20 บาทผมก็ต้องขาย บางคนอาจคิดว่ารอให้มันกลับไปที่ราคาทุนก่อนแล้วกันค่อยขายซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นผลตอบแทนมันก็จะแย่
เริ่มต้นก็โดนไก่จิก
หลังจากที่มีโอกาสเข้าโครงการอบรมนักลงทุนรุ่นใหม่ (New Investor Program: NIP) ทำให้รู้สึกว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing: VI) เป็นเส้นทางที่น่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องนักเพราะตอนนั้นจบวิศวกรมา จึงมาอ่านหนังสือศึกษาเพิ่มเติมหลายๆ เล่มประมาณครึ่งปี แล้วก็เริ่มเปิดพอร์ตประมาณปลายปี 2545
สำหรับหุ้นตัวแรกที่เล่นก็คือ GFPT ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับไก่ โดยตัดสินใจตามหนังสือที่บอกว่าหุ้นถูก ต้อง P/E ต่ำ, P/BV ต่ำ, ปันผลดี แต่ก็ขาดทุน หลังถือไว้ประมาณ 2-3 เดือนก็หายไปประมาณ 30% เลย ตัดสินใจคัทลอสออกมา เพราะว่าตอนที่ซื้อมาก็ไม่ได้ดูธุรกิจอะไรลึกมากแค่เห็นว่าหุ้นมันถูก แม้ว่าแรกๆ จะได้กำไรบ้าง แต่ก็ไม่ได้ขายออกเพราะจำมาว่า VI ต้องซื้อหุ้นถูกและถือยาวๆ แต่ก็ไม่รู้จะถือไปถึงเท่าไหร่เหมือนกัน พอไข้หวัดนกมาหุ้นไก่ก็เละตุ้มเป๊ะเลย
ล้มแล้วลุก
จากนั้นก็กลับไปเลียแผลใจ 1-2 อาทิตย์ ศึกษาใหม่ คราวนี้แค่ราคาถูกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องดูตัวธุรกิจด้วยว่าจะมีทิศทางดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งตัวนี้ก็ได้กำไร 60-70% เลย ซึ่งระหว่างเล่นหุ้นนี้ก็ทำงานประจำควบคู่ไปด้วย โดยก็มีโอกาสไปเรียนปริญญาโท MBA ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยฝันว่าอยากจะเป็นนักลงทุนเต็มตัวเพียงแต่ว่าเวลานั้นไม่ได้คิดว่าจะเลิกทำงานและทำงานเต็มตัวเพียงแต่ตั้งเป้าไว้ว่า หากวันหนึ่งในอนาคต เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนมันเยอะเพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องทำงานก็จะลาออกมาลงทุนเต็มตัว แต่ปรากฏว่าตอนจบมาผลตอบแทนที่ได้จากพอร์ตมันดีมากโตทะลุเป้าที่เราเคยคิดเป็นเท่าตัวก็เลยรู้สึกว่าอย่างงี้ก็เล่นหุ้นเต็มตัวเลยละกัน
เก๋าเกมส์ 
สูตรการเลือกหุ้นหลักๆ ก็คือ เลือกถูกๆ เลือกดีๆ เพียงแต่ว่าปีแรกการมองธุรกิจของผมยังไม่ขาด เหมือนเป็นมือใหม่เพิ่งเรียนจบมา ก็เลยได้แต่นั่งคิดไปเองว่าธุรกิจนี้มันน่าจะดีมั้ง แต่โชคดีที่ปี 2546 ช่วงนั้นราคาหุ้นค่อนข้างถูกอยู่แล้วด้วย ดัชนีขึ้นจาก 300 ไปเป็น 700 จุด เป็นเท่าตัว บางทีแม้จะคิดพลาดธุรกิจที่ซื้อไม่ได้ดีอย่างที่คาดแต่หุ้นมันก็ขึ้น เลยกลายเป็นว่าปีแรกก็เป็นแบบสบายๆ และค่อยๆ สร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้ในช่วงหลังเพราะมองธุรกิจได้ขาดและมองจังหวะที่เข้าไปซื้อได้ถูกต้องขึ้น
สั่งสมความรู้
หัวใจของความสำเร็จหลักๆ ของผมคือ การเลือกลงทุนแนว VI ซึ่งถูกทางและเข้ากับนิสัยของตัวเองที่ใจเย็นไม่ได้รีบร้อนเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งการเริ่มต้นดีก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่ง นอกจากนั้นก็เป็นการสะสมความรู้ไปเรื่อยๆ แรกๆ อาจมีหุ้นที่รู้จักเพียง 10-20 ตัว หรือบางธุรกิจเราอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปการที่ศึกษาขอบเขตความเข้าใจในหุ้นมันเยอะขึ้นตัวเลือกเราก็เยอะขึ้น
อย่างแรกๆ ผมสนใจหุ้นอสังหาริมทรัพย์ตัวหนึ่งแต่ด้วยความที่ผมวิเคราะห์ธุรกิจอสังหาฯ ไม่เป็นก็เลยเสียโอกาสในการเล่นหุ้นตัวนั้นไป เพราะถ้าเราวิเคราะห์ไม่เป็นเราก็ไม่อยากจะยุ่งกับมัน แต่เวลาเมื่อผ่านๆ ไปก็เริ่มศึกษาเลยเริ่มเข้าใจเป็นเหมือนโอกาสที่เยอะขึ้นซึ่งก็ทำให้เราสร้างผลตอบแทนได้ดีขึ้น ส่วนเงื่อนไขในการเลือกหุ้น ผมจะใช้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ ต้องเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต ต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน และต้องมีผู้บริหารที่ดี
มองให้รอบ
การวิเคราะห์อุตสาหกรรม ก็แล้วแต่อุตสาหกรรมด้วย อย่างเช่นช่วงนี้ผมเล่นหุ้นอสังหาฯ ก็อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ธรรมดา แต่ก็ต้องอ่านแบบฟังหูไว้หูด้วย เพราะถ้าช่วงไหนดัชนีลงข่าวร้ายก็จะลงกันทุกวัน ถ้าช่วงไหนดัชนีขึ้นข่าวดีก็จะลงทุกวัน ซึ่งก็ต้องอ่านโดยเอาตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นความเห็น นอกจากนี้ยังได้มาจากการคุยกับผู้บริหารด้วย อย่างไปคุยกับผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่งก็อาจจะถามเขาว่ากลัวคู่แข่งมั้ย เค้าทำแบบนี้ๆ เค้าก็อาจจะคอมเม้นท์ถึงอีกบริษัทว่าทำต้นทุนได้ต่ำและยอดขายดี กลายเป็นว่าแทนที่จะสนใจตัวนี้เราอาจกลายเป็นสนใจอีกตัวหนึ่งแทน

อ่านใจให้ขาด

ส่วนทักษะในการอ่านคนเป็นเรื่องจำเป็นเพราะต่อให้ธุรกิจดี แต่ผู้บริหารไม่ดีก็ไม่ไหวเหมือนกัน โดยคุณสมบัติของผู้บริหารก็คือต้องมีความความเก่ง ขยัน และซื่อสัตย์ โดยบางทีต้องอาศัย sense หรือไม่ก็สไตล์การพูดรวมถึงคำถามที่เขาตอบเรา อย่างผู้บริหารที่เก่งๆ ไม่ว่าเราจะถามอะไรอย่างเช่นว่าสถานการณ์ไม่ดีแบบโน้นแบบนี้จะจัดการยังไง คือเขาเตรียมทางแก้ไว้หมดแล้วและสามารถตอบเราได้เป็นฉากๆ แต่ถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่เก่งอย่างถามไปว่าถ้าค่าเงินมันแข็งขึ้นส่งออกไม่ดีจะทำไง ก็จะได้รับคำตอบประมาณว่า ค่าเงินมันคงไม่แข็งไปกว่านี้หรอก ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ได้มีการคิดแผนรองรับถ้ามันจะเกิดขึ้น ผู้บริหารบางคนจะมั่นใจเกินจริง บางคนจะชอบพูดแบบอนุรักษ์นิยมไว้ก่อน หรือชอบปิดบังสิ่งที่ไม่ดีเอาไว้ในใจไม่ยอมพูด บางคนก็เชื่อไม่ได้เลย จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจลักษณะของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งหากผมจะซื้อหุ้นตัวไหนในปริมาณเยอะๆ ก็มักจะต้องเข้าไปคุยกับผู้บริหารก่อน โดยเราก็ต้องตั้งคำถามให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ วิธีการแก้ปัญหา แผนการดำเนินการในอนาคตด้วย ถือได้ว่าการคุยกับผู้บริหารก็คือบ้านข้อสุดท้ายก่อนซื้อหุ้น
อย่าใช้อารมณ์
ขณะที่จิตวิทยาการลงทุนในความหมายของผมก็คือ จิตวิทยาในการวิเคราะห์ตัวเอง อย่างเช่นการเล่นหุ้นของผมจะไม่ดูต้นทุนของตัวเองเทียบกับราคาในตลาดปัจจุบัน เพราะคนเราจะมีอคติ ดังนั้นผมจะให้ดูว่าหุ้นจะขึ้นได้เท่าไหร่หรือจะลงได้เท่าไหร่นั่นคือคีย์ในการตัดสินใจ แต่สำหรับนักลงทุนโดยทั่วไปแล้วสิ่งที่เขาดูคือต้นทุน ตอนนี้ขาดทุนเลยไม่อยากขาย หรือกำไรเยอะก็เลยอยากขายแล้ว ตัวเลขต้นทุนซึ่งบางทีมันไม่มีผลต่อมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น แต่เรากลับนำมาใช้ซึ่งก็อาจทำให้เกิดอคติทำให้เราใช้อารมณ์ในการซื้อขายหุ้นหรืออย่าง Snake Bite Effect คือการที่คนเรามักจะกลัวในสิ่งที่ทำให้เราเจ็บตัวมาก่อน อย่างเคยเจ็บตัวจากหุ้นอสังหาฯ แล้วทำให้ไม่กล้าจะลงทุนหุ้นอสังหาฯ อีกเพราะนึกว่าไม่ถูกโฉลกแล้ว แต่ปีนี้ถ้าหุ้นมันเกิดดีขึ้นมาก็จะทำให้เราเสียโอกาส
เข้าเนื้อก็มี
ที่ผ่านมาหุ้นในพอร์ตของผมกำไรก็มีขาดทุนก็เยอะผสมกันไป แต่ถ้าคิดเป็นรายปีส่วนใหญ่จะมีกำไร โดยจะคิดต้นปีเทียบกับปลายปี แต่อย่างปีที่แล้วมันเละตุ้มเป๊ะขาดทุนไป 55% ได้ ขณะที่ช่วงวิกฤติอย่าง 19 กันยา หรือ 19 ธันวา ที่หุ้นจะดิ่งลงมาพร้อมๆ กัน ส่วนใหญ่ผมมักจะอยู่เฉยๆ เพราะตั้งแต่เล่นหุ้นมา 6 ปี ถือหุ้น100% ยังไม่เคย Hold Cash เลย แต่ถ้าผมมีหุ้นอยู่ 3 ตัว แล้วราคาลดลงไม่เท่ากัน ผมก็จะขายตัวที่ราคาลงน้อยแล้วเปลี่ยนมาซื้อตัวที่ลงเยอะ เพราะยิ่งมันลงมาเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันถ้าในภาวะปกติแล้วมีหุ้นอยู่ 3 ตัว ตัวแรกลง 5% ตัวที่สอง +10% ตัวที่สาม +50% ผมก็จะขายตัวที่สามบางส่วนเพื่อไปซื้อตัวแรกเพิ่ม ซึ่งโดยปกติการซื้อขายของผมก็มักจะเป็นลักษณะนี้ เพราะถ้าหุ้นขึ้นมากเท่าไหร่ความเสี่ยงก็จะเยอะขึ้นเท่านั้น

ผสานแนวคิด 2 VI ชื่อดัง 

หลักคิด VI ของผมจะใช้แนวคิดของ วอร์เรนต์ บัฟเฟต์ และ ปีเตอร์ ลินช์ เป็นหลัก โดยการลงทุนของบัฟเฟต์จะคิดระยะยาวมากๆ คือถือหุ้นที่ดีต่อเนื่องกันเป็น 10-20 ปี แล้วไม่ค่อยขายเพราะฉะนั้นเขาจะเลือกหุ้นที่แบบเฟอร์เฟ็คยอดเยี่ยม และซื้อในช่วงที่ธุรกิจมีปัญหาในช่วงที่คนส่วนใหญ่จะเทขายออกมา แต่ลินช์จะมองหุ้นสั้นกว่าบัฟเฟต์โดยเฉลี่ยแล้ว 2-5 ปี โดยจะมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยกว่า คือถ้าหุ้นที่เขาถืออยู่มันเริ่มแพงแล้วเขาจะขายทิ้งและไปหาตัวที่ถูกกว่าแทนเป็นอย่างงี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งลินช์ก็ทำการบ้านหนักกว่าบัฟเฟต์ แต่สำหรับของผมเองแล้วก็กลางๆ ผสมกันคือช่วงไหนมีโอกาสซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาถูกๆ ก็ซื้อแต่ช่วงไหนที่หุ้นแบบนั้นหาไม่ได้เลยก็จะเล่นหุ้นที่ไม่ต้องมองยาวมาก
ต้องเจาะลึก
ก่อนจะซื้อหุ้นแรกๆ ผมศึกษาแต่ละตัวเป็นเดือนเลยนะ แต่หลังๆ นี่บางทีผมอ่านแค่ครึ่งวันก็ซื้อแล้ว เพราะถ้าเป็นธุรกิจที่เราเข้าใจอยู่แล้วก็ไม่ต้องศึกษาอะไรมาก อย่างถ้าผมสนใจหุ้นอสังหาฯ ตัวนึงก็จะเข้าไปศึกษางบการเงินของบริษัทว่าเป็นยังไง ผลงานในอดีตเป็นยังไง แล้วภาวะปัจจุบันยอดขายโอเคมั้ย แล้วผมก็ซื้อได้เลย จากที่ในอดีตต้องไปเริ่มต้นดูว่าหุ้นอสังหาฯ เขาวิเคราะห์กันยังไง คู่แข่งเป็นยังไง ใครเป็นคู่แข่งในธุรกิจนี้ แล้วอดีตเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาผมก็ศึกษาไปเรื่อยๆ ว่ารายนี้จุดเด่นด้านนี้ๆ ลูกค้าหลักคือใคร ดังนั้นเราจะมีข้อมูลมาก บางทีฟังผู้บริหารพูดปั๊บๆ เอาเครื่องคิดเลขจิ้มๆก็ซื้อได้เลย
หัวใจหลักงบการเงิน
หัวใจหลักๆ ที่ต้องดูและพลาดไม่ได้ก็คืองบการเงิน โดยก็ดูอัตราส่วนหลักๆ กำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เป็นยังไง เรียกได้ว่าดูทุกรายการในงบกำไรขาดทุนเลย แล้วก็ไปดูหนี้สินเทียบกับทุนว่าเป็นยังไง ถ้าหนี้เยอะก็เสี่ยง หนี้น้อยก็สบาย แล้วจากนั้นก็นำแต่ละบริษัทมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งตัวอื่นๆ ในกลุ่ม อย่างเช่น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาฯ ไม่น่าจะดี สภาวะเศรษฐกิจมันแย่ แบงก์ก็ไม่ค่อยปล่อยกู้ แต่ในสภาวะที่แย่แบบนี้จะมีคนที่ได้ประโยชน์อยู่ บริษัทอสังหาฯ รายเล็กๆ กู้แบงก์ยากดังนั้นจึงเปิดโครงการใหม่ไม่ได้ หรือบริษัทที่มีหนี้เยอะขายของไม่ได้กู้ไม่ได้แทบจะต้องปิดตัวไปก็มีซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จะตกอยู่กับบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ที่มีงบดุลแข็งแกร่งมีหนี้น้อยๆ แม้ว่ายอดขายรวมจะลดลงแต่บริษัทพวกนี้จะสามารถไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดตัวอื่นๆ มาได้
เงี่ยหูฟัง
ผมก็อ่านบทวิเคราะห์ด้วย แต่ก็ต้องดูว่าที่มามันมาจากไหน หากมาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารเราก็ต้องดูตัวผู้บริหารเพิ่ม ถ้าตัวเขาเชื่อถือได้เราก็เชื่อบทวิเคราะห์ง่ายหน่อย ซึ่งก็จะดูชื่อนักวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงประกอบแต่เอาเข้าจริงหุ้นที่ผมเล่นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีคนวิเคราะห์ซักเท่าไหร่ ขณะที่อีกอย่างที่ผมจะไม่ดูจากบทวิเคราะห์เลยคือราคาเป้าหมายแม้ว่าจะมีการคิดตามสูตร WACC, DCF หรืออะไรก็ตาม ผมไม่เชื่อเลยและผมก็ไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบนั้นด้วย เพราะผมก็เคยลองทำแต่มันเป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้ผลเลย ตอนนี้ผมเลยคิดง่ายๆโดยใช้ P/E Ratio และคาดการณ์ตัวเลขล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ส่วนหลังจากนั้นก็ดูว่ามันจะดีขึ้นอีกแค่นั้นก็พอ ถ้าให้นักวิเคราะห์มาแข่งคาดการณ์กำไร 1 ปีล่วงหน้ากับผมแล้วเค้าหรือผมก็คงไม่ได้มีใครเก่งไปกว่ากันหรอก พอเราดูแล้วเห็นว่าเทียบกับ P/E แล้วในปีหน้าราคามันถูกก็ซื้อได้เลย

กระจายความเสี่ยง

ในพอร์ตผมจะแบ่งถือหุ้นโดยเฉลี่ย 5-6 ตัว เพราะถ้าน้อยตัวไปก็จะรู้สึกว่าเสี่ยงแต่ก็เคยถือตัวเดียวเหมือนกันนะ เพราะรู้สึกมั่นใจมาก ซึ่งปรากฏว่าโชคดีถือถูกตัว แต่หลายๆ ครั้งหุ้นที่มั่นใจมากๆ แล้วเละไม่เป็นท่าขึ้นมาก็มีเหมือนกัน ทำให้หลังๆ รู้สึกว่าจะไม่เล่นหุ้นหนักๆ ตัวเดียวแล้วต้องมีการกระจาย แต่บางตัวอาจถือเยอะหน่อยเช่นซัก 30% ของพอร์ต ตามความมั่นใจ และตามเป้าหมายของมัน เช่นถ้ายังเหลืออัพไซด์เยอะก็จะถือมากหน่อย
เหตุปรับพอร์ต 
สำหรับผมการที่ราคาลดลงไม่ใช่จุดคัทลอส แต่ผมจะคัทลอสก็ต่อเมื่อวิเคราะห์ผิดอย่างมองว่ากำไรน่าจะได้ 1 พันล้านบาท แต่ประกาศจริงได้แค่ 7 ร้อยล้าน ซึ่งก็ต้องมาดูเหตุผลประกอบด้วย ถ้าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวก็จะไปเข้าสูตรของ บัฟเฟต์ แทนที่คัทลอสก็อาจจะซื้อเพิ่มแทนถ้าราคาลดลง ส่วนเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การคัทลอสแต่จะไม่เก็บหุ้นไว้ต่อก็คือ เห็นหุ้นตัวอื่นที่ดีกว่า แม้ว่าหุ้นตัวที่ถือนั้นจะได้กำไรอยู่ก็ตาม ส่วนปัจจัยทางเทคนิคผมไม่เคยดูเลย จะใช้แค่ P/E กับวิเคราะห์ธุรกิจเป็นหลัก ถ้าธุรกิจดีมากๆ ก็ควรที่จะมี P/E ที่สูงกว่าตัวอื่นหรือไม่ก็เป็นธุรกิจที่ดีมาก แต่คนอื่นยังไม่เห็นเราก็ต้องหาให้เจอก่อน
หุ้น 5 เด้ง 
ตั้งแต่ผมเล่นหุ้นมา PSL เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด โดยซื้อตั้งแต่ราคา 8 บาทถึง 11 บาท แล้วก็เก็บประมาณ 1 ปีไปขายที่ราคา 40 บาท ซึ่งนี่คือหุ้นที่ถือตัวเดียวทั้งพอร์ต เพราะมองว่าค่าระวางเรือจะขึ้นเยอะ แต่พอขึ้นไปเยอะแล้วก็มองไม่ออกเหมือนกันว่าจะขายตรงไหน จนกระทั่งรู้สึกว่าถึงจุดหนึ่งไม่น่าจะขึ้นไปกว่านี้แล้วมั้งก็เลยขาย…ก็มั่วๆเหมือนกันนะ เพราะมันเคยขึ้นไปถึง 60 บาทด้วยนะ แล้วก็มีแตกพาร์อะไรด้วย แต่ที่ผมซื้อมา 8 บาทก็ต้องถือว่ามันขึ้นมาเยอะแล้วนะเพราะก่อนหน้านี้มันมาจาก 3 บาทด้วยซ้ำ ถ้าถามก็คงต้องบอกว่ามันก็ฟลุ๊คส่วนหนึ่งด้วยมั้ง
แสบสะท้านทรวง 
ส่วนตัวที่เจ็บตัวมากที่สุดก็คือ SNC และเล่นหุ้นตัวนี้ก็ถือเยอะด้วยถือเต็มพอร์ตเลย ผมซื้อตั้งแต่ราคา 3 บาท ไปถึง 7 บาท 15 บาทก็ยังซื้อเพิ่ม จนขึ้นไป 17 บาท แล้วก็ลงมา 12 บาทซึ่งช่วงนั้นก็ยังมั่นใจนะซื้อหุ้นเพิ่มทุนเข้าไปอีกด้วย พอผ่านไปซักพักทีนี้ผลประกอบการมันผิดจากที่เราคาดไว้แม้ว่าผู้บริหารจะเป็นคนที่ทำงานเก่งแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นมันก็เกินคาดการณ์ของผู้บริหารเหมือนกัน ให้โอกาสผู้บริหารไป 3 ไตรมาส แต่ก็ยังไม่ดีเลยตัดสินใจขายทิ้งไปที่สิบกว่าบาท แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าตัวนี้ผมขาดทุนหรือกำไรเพราะผมไม่รู้ว่าต้นทุนมันอยู่ที่ตรงไหน
มองให้ขาด 
แนะนำให้นักลงทุนรุ่นใหม่ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นแบบนี้จะต้องวิเคราะห์ธุรกิจให้เป็นว่าธุรกิจนี้มันดีหรือเปล่า เพราะการเล่นหุ้นมันไม่ใช่การวิเคราะห์หุ้นว่าจะขึ้นหรือลง แต่เป็นการดูว่าธุรกิจจะดีหรือไม่ อนาคตจะเป็นอย่างไร แล้วมูลค่าธุรกิจที่ขายอยู่ทุกวันนี้ถูกหรือแพง ถ้าเราเข้าใจมันดีพอก็จะรู้แนวโน้มมันได้ และถ้าเข้าใจลึกก็จะรู้ว่าธุรกิจนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ จากนั้นก็เอามูลค่ามาเทียบกับราคาในตลาด ถ้าถูกเราก็ซื้อ ถ้าแพงเราก็ขาย
หุ้นดี P/E ต้องสูง 
ปกติแล้วธุรกิจที่ดีก็จะมี P/E ที่แพง ธุรกิจแย่ P/E ก็ควรจะต่ำ ซึ่งผมก็จะแบ่งหุ้นออกเป็น 5 เกรด ตามคุณภาพของบริษัท จากหุ้นเกรด A ไปจนถึงหุ้นเกรด F ซึ่งหุ้นเกรด A หรือ หุ้นสุดยอด จะเป็นบริษัทที่มีหนี้น้อยหรือไม่มี รายได้มั่นคงมากและโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ กำไรโตขึ้นในระดับ 20-30% ผู้บริหารเก่ง ขยัน ซื่อสัตย์ แนวโน้มธุรกิจดี มีอำนาจในการต่อรองสูง อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่แข่งขันกันเรื่องราคา ซึ่งมี P/E 12 เท่าขึ้นไป
หุ้นเกรด B หรือ หุ้นคุณภาพดี จะเป็นบริษัทที่มีหนี้น้อยหรือไม่มีเลย รายได้โตอย่างต่อเนื่อง กำไรในอนาคตคาดว่าจะโตในระดับ 15% ขึ้นไป โดยมี P/E ที่เหมาะสมประมาณ 9-12 เท่า ขณะที่หุ้นเกรด C หรือ หุ้นคุณภาพดีพอใช้ จะเป็นบริษัทที่มีหนี้ไม่มาก รายได้ไม่ผันผวน เติบโตอย่างสม่ำเสมอ กำไรในอนาคตเติบโตระดับ 5-15% ต่อปี โดยมี P/E ที่เหมาะสมประมาณ 6-9 เท่า
หุ้นเกรด D หรือ หุ้นที่มีคุณภาพกลางๆ จะเป็นบริษัทที่มีหนี้สินกลางๆ รายได้และกำไรไม่ค่อยเติบโต หรือเติบโตช้าไม่เกิน 5% ต่อปี โดยมี P/E ที่เหมาะสมประมาณ 5-6 เท่า และหุ้นเกรด F หรือหุ้นที่มีคุณภาพแย่ เป็นกิจการที่ขาดทุนหนี้สินมาก หรือกำไรไม่แน่นอน หรือผู้บริหารไว้ใจไม่ได้

สูตรคำนวณหุ้นแบบส่วนตัว 

วิธีคิดง่ายๆ ก็อย่างเช่น PS ปีที่แล้วกำไรต่อหุ้น 1.10 บาท ส่วนผู้บริหารบอกว่าปีนี้จะโต 30% และอัตราการทำกำไรไม่ต่ำกว่าเดิม ดังนั้นผมก็จึงเอา 1.1x 1.3 ก็ได้ประมาณ 1.4 ซึ่งก็อาจจะเยอะไปหน่อยก็ให้ดิสเค้าท์ คิดว่าซัก 1.25 ก็แล้วกัน ซึ่งนี่คือกำไรต่อหุ้นสำหรับปีนี้ แล้วก็นำ PS มาเทียบความแข็งแกร่งกับคู่แข่งในวงการ ซึ่งในด้านคุณภาพก็ชนะทุกตัว ซึ่งคู่แข่งก็ P/E ประมาณ 10 เท่า ผมก็มาคิดลด P/E ด้วยว่าน่าจะ 8 เท่าละกัน แล้วนำ 1.25 x 8 ก็เท่ากับ 10 บาท ก็แค่นี้เองโดยสิ่งแรกที่ผมจะต้องทำก็คือตัดสินใจว่าจะเชื่อผู้บริหารได้หรือไม่ก่อนและค่อยคิดลดไปอีกซักหน่อย
กู้มาเล่นหุ้น 
ที่เล่นมาร์จิ้นด้วยก็เพราะเล่นหุ้นแล้วได้ผลตอบแทนดี เลยคิดว่าถ้ากู้มาเล่นคงจะได้เยอะกว่านี้แน่เลย สำหรับครั้งแรกที่กู้มาเล่นดอกเบี้ยถูกมาก แค่ 4.5% เท่านั้นเอง ส่วนตอนนี้ก็ 5.5% แต่ก็ต้องเอาหุ้นมาวางเป็นหลักประกัน ซึ่งถ้าหุ้นลงก็จะทำให้สินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่าต่ำลงก็จะทำให้ความเสี่ยงจากการถูกฟอซเซลจะเยอะขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องขายหุ้นบางส่วนออกไปต่อให้เรารู้ว่ามันถูกก็ตามเถอะ ก็ต้องยอมขายทิ้งเพราะต้องลดหนี้ ตรงข้ามกับหลักการที่ว่าหุ้นยิ่งถูกยิ่งต้องซื้อแต่นี่ยิ่งถูกเรากลับยิ่งขาย ซึ่งเป็นเหตุให้ปีที่แล้วผมขาดทุนเละก็เพราะมาร์จิ้นนี่แหละ ถ้าหากไม่ใช้มาร์จิ้นเลยพอร์ตผมจะลบเพียงแค่ 33% เท่านั้นเอง แต่เพราะมาร์จิ้นเลยทำให้ติดลบถึง 55 % การจะเล่นมาร์จิ้นต่อให้หุ้นถูกก็ตาม ถึงผมเชื่อว่าหุ้นจะเข้าใกล้มูลค่าเหมาะสมในระยะยาว แต่ในระยะสั้นมันอาจจะลงก็ได้ และมาลงมาเรื่อยๆจนกระทั่งถึงจุดที่เราเจ็บก็แย่แล้ว

ซื้อกองทุนอสังหาฯ ความเสี่ยงต่ำ 

ตั้งแต่ต้นปีก็เลยทำให้ผมเข็ดไม่อยากใช้มาร์จิ้นอีกแต่มาเห็นหุ้นมันถูกมากเลยต้องใช้ แต่ผมก็เลยเลือกใช้ในการซื้อกองทุนรวมอสังหาฯ แทนโดยผมจะดูที่เงินปันผล อย่างเช่น 15% ถ้าผมกู้มา5% ผมก็กำไร 10%แล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดจะถือยาวถึง 30 ปี แค่ปีสองปีก็พอ หลักการดูพื้นฐานก็เหมือนหุ้นเลย อย่างกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุยเขาก็มีการันตีจ่าย 60 สตางค์/ปี ซึ่งถ้าเทียบกับราคา 4 บาทที่เคยลงไป ก็หมายความว่าปันผล 15%แล้ว ยังไม่รวมกับราคาหน่วยลงทุนที่สามารถสูงขึ้นได้อีกดังนั้นมันจึงมีความเสี่ยงน้อยมากผมจึงกล้ากู้มาเล่น แต่ก็ต้องเลือกเหมือนกัน เพราะบางกองอสังหาฯ ก็แย่เหมือนกัน

6 ปี 27 เด้ง 

ผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มเล่นหุ้นวันแรกจนถึงปัจจุบันพอร์ตของผมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 27 เท่าแล้ว ผมลงทุนหุ้น 100% ไม่ว่าหุ้นเล็กหุ้นใหญ่หุ้นตลาดเอ็มเอไอเล่นหมด ส่วนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ผมไม่ได้ลงทุนอะไรเลย ส่วนหุ้นไอพีโอผมก็ไม่เล่นด้วยเพราะ หุ้นที่ดีราคาไม่แพงมันก็มักจะไม่มาถึงเรา ส่วนที่มาถึงเรามันก็เป็นหุ้นอะไรก็ไม่รู้ เพราะปกติที่ปรึกษาทางการเงินเขาต้องตั้งราคาให้หุ้นไอพีโอแพงที่สุดแต่ต้องขายได้เพราะฉะนั้นมูลค่าหุ้นไอพีโอจึงไม่ค่อยถูกกว่าที่ควรจะเป็นซักเท่าไหร่

พร้อมโกอินเตอร์ 

การติดตามข่าวก็เป็นการดูทีวีขณะที่หนังสือพิมพ์ก็จะใช้เวลาอ่านตอนเย็นซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นโพสต์ทูเดย์ กับ ทันหุ้น ส่วนบลูมเบิร์กหรือซีเอ็มบีซีก็ไม่เคยดูเลย แต่ต่อไปอาจจะต้องดูแล้วเพราะเพื่อนๆ เขาชวนไปเปิดพอร์ตซื้อขายต่างประเทศไว้ รวมถึงต้องดูพวกอัตราแลกเปลี่ยนด้วย แต่ตอนนี้ก็แค่เปิดไว้เฉยๆ ก่อนยังไม่ได้เล่นหรอกเพราะกว่าจะเปิดพอร์ตได้ก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในบรรดาก๊วนของผมที่สนิทมากๆ มีซักประมาณ 10 คน ก็เป็นรุ่นเด็กเสียส่วนมาก มีการบอกกันว่าหุ้นตัวไหนดี มีการพุดคุยและแนะนำกันให้ไปศึกษาต่อ ก็แล้วแต่ต่างคนต่างไปคิด แต่บางทีคิดเหมือนกันก็มี เป็นการแลกไอเดียหรืออัพเดทช่วยกันมากกว่า
ผลตอบแทน 40% จิ๊บๆ 
สำหรับชีวิตของนักลงทุนมันก็สบายเหมือนกัน ผมเลยตั้งใจว่าเวลาที่สว่างก็จะใช้เวลาทำกิจกรรมที่มีสาระก็มีอ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุน และธุรกิจระดับโลกอย่าง โตโยต้า กูเกิ้ล อีเบย์ ฯลฯ รวมถึงมาตลาดหลักทรัพย์เพื่อฟัง Opportunity day ส่วนนิยายอย่างแฮรี่พอร์ตเตอร์ ผมก็จะอ่านช่วงกลางคืนแทน ส่วนเป้าหมายในการลงทุนก็จะไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดครับเพราะก็ยังสนุกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าถึง 100 ล้านแล้วก็หยุด มันเหมือนแข่งกันเล่นเกมกับเพื่อน อย่างปีนี้ก็คุยกันว่าได้มากี่เปอร์เซ็นแล้ว…..40% เองหรอ จิ๊บๆ (หัวเราะ)
“สันติ สิงหวังชา” บอกว่าการลงทุนคืออาชีพที่ชอบ แต่ก็ต้องมีวินัยให้มากกับตัวเอง และพยายามใฝ่หาความรู้ใส่ตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งสำคัญสิ่งแรกก่อนตัดสินใจลงทุน คือการมองแนวโน้มธุรกิจ ต้องมองให้ขาดว่าจะเป็นไปในลักษณะใด จากนั้นก็ไปคัดเลือกหุ้นที่ดีที่สุด โดยหลักที่ให้น้ำหนักความสำคัญคือการวิเคราะห์จากงบการเงินเพื่อตัดสินใจลงทุนในที่สุด และอย่าลืมเกาะติดการเคลื่อนไหวในทุกระยะ และหากเป็นไปได้ต้องหาโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารเพื่อพิจารณาถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารกิจการด้วยเพื่อจะได้ผิดพลาดน้อยที่สุด

Saturday, November 2, 2013

จาก"วินมอเตอร์ไซค์"สู่เซียนหุ้น VI 'ทิวา ชินธาดาพงศ์'




จาก"วินมอเตอร์ไซค์"สู่เซียนหุ้น VI 'ทิวา ชินธาดาพงศ์'

เปิดตัว 'เซียนหุ้น VI' 'สิงห์มอเตอร์ไซค์รับจ้าง' จบการศึกษาแค่ ม.3 เคยล้มเหลวมาแล้วหลายอาชีพ วันนี้ผันตัวเองสู่เจ้าของพอร์ตหุ้นตัวเลข 9 หลัก

น้ำแข็งเกิดจากน้ำ แต่แข็งกว่าน้ำ ผู้ที่รู้ตัวว่าชีวิตเกิดมาต้องต่อสู้ดิ้นรน จึงหมั่นฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็ง "มี่" ทิวา ชินธาดาพงศ์ เด็กหนุ่มที่ "ใจถึงจนถึงใจ" เขาไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองและชีวิตเต็มไปด้วยโอกาสเหมือนกับใครหลายๆ คน

ชายหนุ่มอารมณ์ดีวัย 30 กว่ามองย้อนกลับไปในชีวิตเบื้องหลังความสำเร็จ วันแห่งความลำบากยากแค้นผุดขึ้นเป็นฉากๆ ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” วลีนี้อาจต้องถูกลบทิ้งไป คนเดินดิน กินข้าวแกง (ข้างถนน) อย่างเขา ใครจะเชื่อว่าวันนี้จะ "ร่ำรวย" เป็นเจ้าของพอร์ตหุ้น "ตัวเลข 9 หลัก"
ครอบครัวชินธาดาพงศ์ เข้าข่ายเป็นชนชั้น "รากหญ้า" ของสังคมเมืองหลวงที่ชีวิตต้องปากกัดตีนถีบ แม่ยึดอาชีพขายบะหมี่ป๊อกๆ หาเช้ากินค่ำ ส่วนพ่อทำงานบริษัทเอกชนทั่วไป หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา ย่านถนนประชาสงเคราะห์ ทิวาตัดสินใจไม่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เหมือนเพื่อนๆ ส่วนใหญ่
เขาคลุกตัวอยู่ในสมุดประชาชนย่านซอยรางน้ำ อ่านหนังสือ "ฮาวทู" ที่สอนเกี่ยวกับ "วิธีคิด" หนา 250 หน้าเล่มหนึ่งจนจบ ชีวิตเด็กหนุ่มมีกำลังใจขึ้นราวปาฏิหาริย์ พร้อมทั้งตั้งปณิธานแน่วแน่กับตัวเองว่า "ชีวิตนี้กูต้องรวยให้ได้"

อาชีพแรกของเด็กหนุ่มเริ่มจากอาชีพขับ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" เพื่อนสนิทมาชักชวนโดยบอกว่า "เงินดีมาก" ได้เดือนละ 30,000 บาท เขาจึงฝันต่อว่าถ้าได้เดือนละ 30,000 บาท ปีหนึ่งก็ 360,000 บาท “กูรวยแน่” เพราะในชีวิตอย่าว่าแต่เงินหมื่นเงินแสนเลย แค่เงินหลักพันยังแทบไม่เคยได้จับ

ช่วงนั้นแม่ของทิวากลุ้มใจมากที่ลูกจบแค่ชั้น ม.3 ไม่ยอมเรียนต่อ ทุกคนในบ้านมองไม่เห็นอนาคตของเขาที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย ขณะที่น้องสาวและน้องชายเรียนหนังสือเก่งทั้งสองคน ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ไม่กี่เดือนก็ต้องเลิกเพราะพ่อแม่ซึ่งมาจากครอบครัวคนจีนอับอายเพื่อนบ้านที่ลูกชายคนโต "ไม่เอาถ่าน"
ทุกอย่างในชีวิตเหมือน "ฝันสลาย" พ่อตัดสินใจส่ง “มี่” ในวัย 14 ย่าง 15 ปี ไปเรียนภาษาจีนกลาง ณ โรงเรกวางโจวตั๋วหวี่เหวี่ยนเหว่นฮั่ง เมืองกวางโจว ประเทศจีน เป็นเวลา 2 ปี โดยให้ไปอาศัยอยู่กับพี่ชายต่างมารดาของพ่อที่ไปปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองจีนกับภรรยาและลูก 2 คน หวังให้ลูกชายได้ภาษาจีนและกลับมายึดอาชีพเป็น "ไกด์นำเที่ยว" ที่เมืองไทย การเดินทางไปกวางโจว ประเทศจีนได้เปลี่ยนชีวิตของทิวาจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 2 ปีครึ่ง

"หลังกลับมาจากเมืองจีน ผมก็ไปทำอาชีพไกด์นำเที่ยวสมใจคุณพ่อ แต่ทำได้แค่ 1 เดือน ก็ตัดสินใจลาออก เพราะรู้สึกไม่ใช่ทางของเรา ต้องตื่นมาทำอะไรซ้ำซาก ไปในที่เดิมๆ พูดเหมือนกันทุกวันน่าเบื่อมาก"

หลังจากนั้นก็ไปทำอาชีพเซลส์แมนขายเครื่องเสียงตามร้านคาราโอะ ทำได้ 1-2 สัปดาห์ ก็ลาออกอีก ระหว่างนั้นได้ไปอ่านหนัง How to เล่มหนึ่ง เขาพูดถึงวิธีการทำอย่างไรจึงจะ “รวย” หนึ่งในนั้นเขาแนะนำให้ไปทำอาชีพ "ขายตรง" หรือ "ขายประกัน"

อ่านจบก็รีบไปสมัครเป็นพนักงานขายประกันชีวิต "เอไอเอ" ทันที ทำได้ 2 ปี ลาออกอีกรู้สึกว่าต้องไปง้อให้คนมาซื้อประกัน..มันขายยาก แต่ชีวิตก็ยังวนเวียนอยู่ในอาชีพเซลส์ "ลงแรง ไม่ต้องลงทุน" คราวนี้ไปเป็นพนักงานขายรถยนต์ยี่ห้อ "มิตซูบิชิ" แถวสามย่าน ไม่มีเงินเดือนมีแต่ค่าคอมมิชชั่นถ้าขายรถได้
ช่วงนั้นคิดว่าจะยึดอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันที่ไปทำงานเขาจะทะเยอทะยานมองหัวหน้างานแล้วบอกตัวเองว่า ทำงานอีก 10 ปี ก็จะได้ไปยืนตำแหน่งเดียวกับเขา มีเงินเดือนกิน 30,000 บาท บวกค่าคอมเข้าไปอีกเกือบ 50,000 บาท สุดท้ายทำไปทำมาก็รู้สึกว่างานนี้ไม่ใช่ทางของเราอีก
"ผมลาออกจากเซลส์ขายรถมิตซูบิชิ ไปขายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ตอนนั้นรู้สึกว่ารักอาชีพนี้มาก ส่วนตัวชอบอะไรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ตื่นไปทำงาน แต่ก็ทำได้แค่ 5 เดือน เพราะเจ้าของร้านจำเป็นต้องปิดกิจการ หลังประสบปัญหาส่วนตัว"

ทิวาเริ่มมองเห็นโอกาสทางการค้า และอยากเปลี่ยนสถานะตัวเองจาก "ลูกจ้าง" มาเป็น "เจ้าของร้าน" เลยไปขอให้แม่ช่วยตีเช็คล่วงหน้าให้เจ้าของร้านเพื่อสวมสิทธิทุกอย่างในร้านเดิม เหตุผลที่สนใจทำธุรกิจขายคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เพราะเห็นว่ามี "กำไรดีมาก" โทรศัพท์ 1 เครื่อง จะได้กำไร 5,000-8,000 บาท สมัยนั้นโทรศัพท์ขายเครื่องละ 30,000 บาท ตอนนั้นกิจการรุ่งเรืองมากมีเงินเข้าร้านเดือนละ "หลายแสนบาท"

แต่แล้วทรัพย์สินเงินทองที่ไหลมาเทมาอย่างไม่ทันตั้งตัวก็มลายหายไปอย่างรวดเร็ว ทำธุรกิจได้ 2 ปี ก็เจอวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 บวกกับช่วงนั้นเขาใช้เงินเกินตั

"สุภาษิตจีนบอกว่า “ใครรวยก่อนอายุ 30 ไม่มีความมั่นคง แต่ถ้าเลย 30 เจริญแน่นอน” ผมจึงตัดสินใจปิดกิจการ ได้เงินมาหลักล้านบาท ก็นั่งคิดเอาเงินไปทำอะไรดี"

ยอมรับว่าช่วงนั้น "คิดสั้น" ได้ยินมาว่า “เล่นพนันบอล” แล้วจะ “รวย” เล่นไป 5 เดือน "หมดตัว" เพราะเล่นหนักมากจากแทงหลัก "หมื่นบาท" ต่อคู่หลังๆ แทงหลัก "แสนบาท" ปิดพ่อแม่ไม่ให้รู้ แต่ภรรยาที่แต่งงานแบบไม่จดทะเบียนรับรู้พฤติกรรมตลอด

"เชื่อมั้ย! หมดตัวถึงขนาดเหลือเงินติดกระเป๋า 100 บาท จะกินข้าวต้องมานั่งคำนวณกับภรรยาว่าจะพอหรือไม่ ชีวิตกลับมาตกต่ำอีกครั้ง เมื่อหมดตัวก็มานั่งคิดจะทำอะไรดีที่ใช้ทุนน้อยๆ พอดีช่วงนั้นภรรยาชอบไปเดินเซ็นเตอร์วัน ก็ไปเห็นธุรกิจระบายสีตุ๊กตาปูนปั้น ซึ่งขายดีมาก ผมจึงไปยืมเงินญาติมาลงทุนใช้เงินแค่ 10,000-20,000 บาทก็ทำได้แล้ว ตอนนั้นโชคดีมากกิจการดีวันดีคืน มีเงินเข้ากระเป๋า 50,000-60,000 บาทต่อเดือน จึงตัดสินใจขยายอีก 1 สาขา ไปเปิดที่บิ๊กซี ลาดพร้าว"

วันหนึ่งไปเดินเล่นข้างล่างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เห็นมีร้านอินเทอร์เน็ตลูกค้าแน่นร้าน กลับบ้านมานั่งทบทวนในเมื่อตัวเองชอบเรื่องเทคโนโลยี และมีเครื่องคอมพิวเตอร์นอนนิ่งอยู่ที่บ้าน 8 เครื่อง ทำไม! ไม่นำมาทำให้เกิดประโยชน์

"ผมเลยไปเช่าพื้นที่เปิดร้านอินเทอร์เน็ต ช่วงนั้นอิมพีเรียล ลาดพร้าว กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ปล่อยค่าเช่าได้ถูกมากเดือนละ 2,000 บาท กิจการรุ่งเรืองมาก เลยขยายอีก 5-6 สาขา เรียกว่า "ยึดหัวหาด" ในย่านลาดพร้าว มีเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 100 เครื่อง ภายใน 2-3 ปี"

ช่วงนั้นเกม Ragnarok Online กำลัง “ฮิต” เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต 9 ปี ก็ปิดกิจการได้เงินสดมา "หลายล้านบาท" จากนั้นก็ไปช่วยกิจการของครอบครัวภรรยาขายแหนมและหมูยอ ตรา "ธัญรัตน์" (ชื่อแม่ยาย) ขายตามตลาดนัด "ขายดีมาก" ระหว่างที่ไปช่วยงานแม่ยาย ตัวเองก็รับซื้อขายแลกเปลี่ยนพวกคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือไปด้วย ทำอาชีพนี้อยู่อีก 1-2 ปี

ทิวา เล่าว่า ในช่วงที่ทำร้านเกม ก็ได้ยินเรื่องตลาดหุ้นแต่ภาพที่รับรู้คือ “เล่นหุ้นเหมือนเล่นการพนัน และเป็นกิจกรรมเฉพาะของคนรวยคนจนหมดสิทธิ” ขณะนั้นก็เลยมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตลาดหุ้น แต่ถึงแม้รู้สึกไม่ดีก็เอาตัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเพราะเห็นโอกาสทำกำไร เพื่อนสมัยเรียนมัธยมมาเล่นเกมที่ร้านมาชวนให้เล่นหุ้น เขาเป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่ที่ บล.เอเซียพลัส

"เขาบอกว่าจะจัดการให้หมดทุกอย่าง เอาเงินมาอย่างเดียว จำได้ว่าช่วงนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย รู้แค่ว่าเพื่อนเอาเงินไปลงทุนหุ้นการบินไทย สุดท้ายขาดทุนไป 70,000 บาท ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ในใจคิดแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ ตอนนั้นรู้สึกเข็ด"

แต่โชคชะตาก็ทำให้เขาเข้าสู่วงจรตลาดหุ้น  ทิวา ผู้ใช้นามแฝง "SAI" ในเว็บบอร์ด Thaivi  ชีวิตก่อนจะมาเป็น “เซียนหุ้น VI” ประมาณปี 2551 ด้วยความบังเอิญ ตัวเขา ภรรยาและลูกสาววัย 3 ขวบ ไปเดินเล่นที่ห้างเอสพลานาดย่านรัชดา เดินผ่าน “ห้องสมุดมารวย” ของตลาดหลักทรัพย์ ได้ยิน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กำลังพูดเรื่องการลงทุน มีคนนั่งฟังประมาณ 20 คน

"ผมสะดุดคำที่อาจารย์นิเวศน์พูดขึ้นว่า การเล่นหุ้นมันคือการซื้อธุรกิจ มีเงินเอาไปลงทุนหุ้นดีๆ อีก 20 ปี เงินจะเติบโตเป็นตัวเลข "หนึ่งหลัก" เท่ากับว่าถ้าเราใส่ไป 1 ล้านบาท 20 ปี ได้ 10 ล้านบาท นอกจากผมจะตาลุกวาวแล้ว สมองก็ยังคิดต่อว่า ทำไม! ไม่มีใครบอกแบบนี้เลยนะ...ดร.นิเวศน์ ทำให้ทัศนคติการเล่นหุ้น และชีวิตของผมเปลี่ยนไป" เขายกย่องอย่างชื่นชม

หลังจากนั้น ทิวา รีบไปหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับตลาดหุ้นมานั่งอ่านประมาณ 20-30 เล่ม ใช้เวลาอ่าน 1-2 เดือนก็อ่านจบทั้งหมด แล้วคิดในใจว่าเล่นหุ้น “ง่ายจัง”

"รุ่งขึ้นผมเดินไปตลาดหุ้น เพื่อไปขอเปิดพอร์ตลงทุน ก็ไม่รู้ว่าต้องไปเปิดที่ไหน เจ้าหน้าที่บอกต้องไปเปิดที่โบรกเกอร์ค่ะ ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเลยจริงๆ ตัดสินใจตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์ PANTIP แล้วก็มีมาร์เก็ตติ้ง บล.กิมเอ็ง สาขานครราชสีมา ชวนผมไปเปิดพอร์ตกับเขา ด้วยเงินก้อนแรก 500,000 บาท"

เจ้าของนามแฝง SAI (มาจากตัวการ์ตูนเรื่อง ฮิคารุเซียนโกะ) เล่าต่อว่า เทคนิคการลงทุนช่วงนั้น เน้นเล่นตามดร.นิเวศน์ เห็นอาจารย์ถือหุ้น 9-10 ตัว ด้วยความศรัทธาคิดว่า "เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด" และคิดว่าอาจารย์นิเวศน์ "คงไม่ขาย" บวกกับมีนักลงทุน VI นามแฝง “กาละมัง” บอกว่า “อย่ากลัวจงสั่นสู้..อย่าสั่นหนี” ก็เลยตัดสินใจ "ซื้อตาม ดร.นิเวศน์"

จำได้ตอนนั้นซื้อหุ้น โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) หุ้น ไว้ท์กรุ๊ป (WG) หุ้น อิโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) (IRC) หุ้น อุตสาหกรรมถังโลหะไทย (TMD) หุ้นไอที ซิตี้ (IT) และหุ้น เอสวีโอเอ (SVOA)
สุดท้ายติดนิสัย “แมลงเม่า” เห็นราคาหุ้นขึ้นดีใจเลยขายออกบางตัว เหลือติดพอร์ตแค่หุ้น HMPRO, IT และ SVOA แล้วเอาเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่นตามคำแนะนำของคนเก่งๆ ในเว็บไซต์ Thaivi ก็มีซื้อหุ้น เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) และหุ้น โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL

"ระหว่างนั้นผมก็ทยอยใส่เงินเข้าไปอีก 5 ล้านบาท สุดท้ายเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 (ซับไพร์ม) ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะขาลงรุนแรง ผมขาดทุน "หลักล้านบาท” มันเป็นตัวเลขที่เยอะมากสำหรับชีวิตผม แต่ก็ไม่ขายนะ เอาแต่นั่งเครียด ไปขุดหนังสือทุกเล่มมาอ่านใหม่ เปลี่ยนทฤษฎีการลงทุนใหม่ยกแผง พร้อมทยอยใส่เงินเพิ่มในช่วงที่ดัชนีลงต่ำ 300-400 จุด ในช่วงปลายปี 2551 อีกประมาณ 2-3 ล้านบาท"

ฉากหลังชีวิตของ "มี่" ทิวา ชินธาดาพงศ์  มาจากก้อนดิน การศึกษาน้อย วงศ์ตระกูลไร้เกียรติยศชื่อเสียง เขาจึงเตือนตัวเองอยู่เสมอให้รู้จัก "ถ่อมตน" เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่ทำให้นักลงทุนด้วยกันต่างเอ็นดูเขาเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น "โยโย่" สันติ สิงหวังชา และ "Blue Blood" ม.ล.กมลสวัสดิ์ วิสุทธิ เจ้าของพอร์ตลงทุน "หลายร้อยล้านบาท" รวมถึง "lek smile" อธิภู ลือชัยชนะกุล เซียนหุ้น VI รายใหญ่ระดับ "ร้อยล้านบาท" เพื่อนเหล่านี้ทิวาน้อมคารวะในความ "คม" ทางความคิด ทั้งๆ ที่อายุยังน้อย
หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา ย่านถนนประชาสงเคราะห์ ทิวาตัดสินใจไม่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เขาเริ่มอาชีพขี่ "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" ก่อนที่พ่อซึ่งอับอายเพื่อนบ้านที่มีลูกชายคนโต

"ไม่เอาถ่าน" ตัดสินใจส่งเขาไปอยู่กับพี่ชายต่างมารดาเรียนภาษาจีนกลางที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง กลับมาเริ่มอาชีพ "ไกด์นำเที่ยว" เป็น "เซลส์แมน" ขายเครื่องเสียงตามร้านคาราโอเกะ เป็นพนักงานขายประกันชีวิต "เอไอเอ" เป็นพนักงานขายรถยนต์ยี่ห้อ "มิตซูบิชิ" แถวสามย่าน ไปเป็นลูกจ้างไปขายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะเซ้งร้านมาเป็น "เถ้าแก่" เอง ช่วงนั้นเงินทองไหลมาเทมามีเงินเป็น "ล้าน" ชีวิตก็ไปติด "พนันบอล" จน "หมดตัว"

ชีวิตเขาหมดตัวถึงขนาดเหลือเงินติดกระเป๋า 100 บาท จะกินข้าวยังต้องมานั่งคำนวณกับภรรยาว่าจะพอกินหรือไม่ ก่อนจะไปยืมเงินญาติ "หลักหมื่นบาท" มาลงทุนธุรกิจระบายสีตุ๊กตาปูนปั้น แล้วขยับไปทำร้านเกมอินเทอร์เน็ต ขยาย 5-6 สาขา จนมีเงิน "หลายล้านบาท"

จากวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างก้าวสู่เซียนหุ้น VI เจ้าของพอร์ตหุ้นหลัก "ร้อยล้านบาท" ฉากหลังชีวิตที่ยิ่งกว่านิยาย ทิวา เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นด้วยเงินก้อนแรก 500,000 บาท โดยมี ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เป็นแรงบันดาลใจ หลังเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ไม่กี่เดือนใส่เงินลงไปหลายล้านบาท เขาก็เจอ "วิกฤติซับไพร์ม" เล่นงานจนขาดทุนเป็นตัวเลข "หลักล้านบาท" จากการเล่นหุ้นตามคนอื่นใครว่าตัวไหนดีก็ซื้อตัวนั้น วิกฤติครั้งนั้นเขาตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการลงทุนใหม่หันมาศึกษาหุ้นที่จะลงทุนอย่างละเอียด เน้นเรื่องงบการเงิน และโฟกัสไปที่หุ้น "เติบโตสูง"

เมื่อใช้เวลาศึกษาสักระยะก็ตัดสินใจขายหุ้นทุกตัวแบบ “ขาดทุน” เพื่อนำเงินมาซื้อหุ้น โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ให้ครบ 1 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 2.80-3.10 บาท หลังพบว่าเป็นหุ้นเพียงตัวเดียวในพอร์ตที่มีอนาคตรุ่งเรืองที่สุด

จากนั้นไม่นานเขาก็ขายหุ้น HMPRO บางส่วน เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้น พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) ต้นทุน 4 บาท หุ้น ศุภาลัย (SPALI) ต้นทุน 3 บาทกว่า หุ้น เอสวีไอ (SVI) ต้นทุน 1 บาท หุ้น ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ DSGT ต้นทุน 3 บาทกว่า

รวมถึงหุ้น ควอลลีเทค (QLT) ต้นทุน 3 บาท และหุ้น แฮลเซี่ยน เทคโนโลยี่ (HTECH) ต้นทุน 1.7 บาท เพราะเห็นว่า P/E ต่ำ และกิจการกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโตสูง การเล่นหุ้นครั้งนั้นเขาเล่นแบบ Switch ไปมาราวๆ 1 ปี ผลในครั้งนั้นทำให้ในสิ้นปี 2552 เขาได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงถึง 300%

ทิวา เล่าให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า ตั้งแต่มารู้จักคนเก่งๆ ในเว็บไซต์ Thaivi โดยเฉพาะ  "โยโย่" สันติ สิงหวังชา  "Blue Blood" ม.ล.กมลสวัสดิ์ วิสุทธิ เจ้าของพอร์ตลงทุนเกือบ 300 ล้านบาท และ อธิภู ลือชัยชนะกุล หรือ leksmile เจ้าของพอร์ตลงทุนหลักร้อยล้านบาท ทำให้ตัวเองได้พัฒนาไปมาก
"ทำให้ผมรู้ว่า

เราควรเลือกลงทุนหุ้นแบบโฟกัสเพียง 3-4 ตัวเท่านั้น เพื่อที่จะเจาะรายละเอียดต่างๆ มากขึ้น ไม่ใช่ดูเพียงงบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสดไม่พอ แต่ต้องดูหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย ตัวนี้สำคัญที่สุด เพราะสามารถบ่งบอกทิศทางราคาหุ้น และอนาคตของบริษัทนั้นได้ รวมถึงต้องดูงบย้อนหลัง 5 ปีด้วย"

  ทิวา ถ่อมตัวว่า ตัวเขายังต้องเรียนรู้อีกมาก และมักจะโทรไปขอคำแนะนำจากบุคคล (เซียน) เหล่านั้นบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแกะงบ อ่านงบ โดยอาศัยการเรียนรู้แบบ "ครูพักลักจำ"

"ทุกวันนี้ก็ยัง "ลักจำ" เขาตลอด (หัวเราะ) ผมว่าการได้อยู่ใกล้คนเก่งๆ มันเป็นโชคดีอย่างหนึ่ง 3-4 เดือน จะนัดเจอกันสักครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ส่วนใหญ่จะเจอกันใน MSN มากกว่า คุยกันทุกวัน ผมความรู้น้อย แต่เขาก็ยินดีช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไขจริงๆ ซึ้งน้ำใจมาก”

สำหรับเทคนิคการลงทุน ทิวา กล่าวว่า ก่อนจะลงทุนหุ้นสักตัวจะทำประมาณการงบการเงินล่วงหน้า 1-2 ปี (หยิบไอแพดขึ้นมาเปิดให้ดูข้อมูลหุ้นเด่นๆ หลายตัว) เปรียบเหมือนเราเป็นนักวิเคราะห์ จะเก็บข้อมูลการเงินย้อนหลัง 4-5 ปี โดยเฉพาะ "งบกำไรขาดทุน" และ "งบกระแสเงินสด" ตัวเลขสองตัวนี้จะสามารถบ่งบอกได้ว่าบริษัทนี้กำไรจริง หรือกำไรทางบัญชี เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนก็จะทำประมาณการกำไรในอนาคตเพื่อประเมินมูลค่าหุ้น

วิธีการหาความรู้ เซียนหุ้น ม.3 บอกว่า ก็อาศัยอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์งบการเงิน แล้วก็โทรไปถามคนเก่งๆ เวลาทำแล้วรู้สึกติดขัดตรงไหน ตารางที่คำนวณได้ก็จะออกแนวบ้านๆ อย่างที่เราเข้าใจไม่ได้ซับซ้อนเหมือนนักวิเคราะห์ทำ แต่ถือว่าสร้างผลตอบแทนได้ดีตลอด ยกตัวอย่างปี 2553 พอร์ตที่ลงทุนได้กำไรประมาณ 200% ขณะที่ในปี 2552 ได้กำไร 300% ในปี 2552 ที่ได้กำไรเยอะเป็นเพราะตลาดหุ้นเพิ่งฟื้นตัวหลังวิกฤติซับไพร์ม ตลาดหุ้นก็เลยโดดเด่นเป็นพิเศษ

ปัจจุบัน ทิวา มีหุ้นอยู่ในพอร์ต 10 ตัว หุ้นทุกตัวที่ลงทุนจะมี "อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เกิน 15%" และ "ราคาหุ้นมีอัพไซด์ (โอกาสขึ้น) เกิน 30%"  ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสามารถสร้างผลตอบแทนได้แล้ว 60% โดยหุ้น จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ถือเป็น "พระเอก" ของปีนี้ แต่ตอนนี้ "ขายทิ้ง" ไปหมดแล้ว

สำหรับหุ้นตัวหลักในพอร์ต มีหุ้น ศุภาลัย (SPALI) ตัวนี้มี ROE ประมาณ 30% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ประมาณ 15% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิยังสูง 23% มากกว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ 15% ที่สำคัญค่า (Forward) P/E ยังต่ำแค่ 6 เท่า แต่ P/E ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์สูงถึง 9 เท่า และกำไรสุทธิในปี 2554 ยังมีโอกาสขยายตัว 15-20% เพราะมียอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ (Backlog) ค่อนข้างมาก

ตัวที่สองคือหุ้น แสนสิริ (SIRI) ซื้อเพราะราคาหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐาน หากเทียบกับค่า P/E ที่อยู่ 4 เท่า นอกจากนั้นสินค้าของบริษัทยังมีคุณภาพ แม้จะขายแพงกว่าคนอื่น 20% ผลประกอบการปี 2554 น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ที่สำคัญ เศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารได้ซื้อหุ้น SIRI เพิ่ม นั่นแปลว่า เขาต้องทำงานให้หนักมากขึ้นเมื่อบริษัทดี เขาก็จะได้ผลประโยชน์ตามไปด้วย

ตัวต่อไปคือหุ้น ไทยคม (THCOM) เชื่อว่าปีนี้บริษัทจะขาดทุนเป็นปีสุดท้าย หลังธุรกิจไอพีสตาร์ ขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ประเทศจีนและฟิลิปปินส์ ยิ่งในปี 2555 แนวโน้มผลประกอบการจะดีกว่านี้มาก เพราะอัตราการใช้ดาวเทียมมีทิศทางจะขยายตัวมากขึ้น

ทิวา กล่าวต่อว่า หุ้นกลุ่ม "สินเชื่อรากหญ้า" ก็เป็นหุ้นที่เลือกซื้อเก็บเอาไว้ "ดักหน้า" นโยบายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เอาใจชนชั้น "รากหญ้า" ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กรุ๊ปลีส (GL) ฐิติกร (TK) และ ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะที่คนรากหญ้าเริ่มมีเงิน เขาก็จะนำเงินไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์ (ผมรู้ดีเพราะเคยจนมาก่อน) ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาไม่ได้สนใจหรอกว่าเดือนหนึ่งต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไร ขอแค่ผ่อนน้อยก็พอ

ส่วนที่เหลือยังไม่ได้เจาะรายละเอียดเท่าไร เช่น  หุ้นพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง (PM) และหุ้น โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซื้อเพื่อจะได้สิทธิไปประชุมผู้ถือหุ้น แต่เชื่อว่า DTAC จะได้ประโยชน์จาก 3G แน่นอน เพราะปัจจุบันทั่วโลกสนใจใน Social Network มากขึ้น คนไทยใช้เกือบ 10 ล้านคนแล้วเติบโตเร็วมาก แพ็คเกจที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือนำออกมาขายมีราคาค่อนข้างแพง แต่ผู้บริโภคก็เต็มใจซื้อ

"ปัจจุบันผมจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนออกเป็น 3 ขา โดยขาแรกจะนำไปลงทุนในหุ้น 60% เก็บให้ลูก (ผ่านกองทุน) 30% ที่เหลือจะเก็บเป็นเงินสด 10% แต่ถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้ที่ตลาดหุ้นบูมๆ จะลงหุ้น 90% เก็บไว้เลี้ยงลูก 10%"

ตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทิวาเริ่มแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้นลดลง สำหรับเขาวันนี้ถือว่า "รวยแล้ว"

"วันนี้ผมพอใจในสิ่งที่มี ในชีวิตไม่เคยคาดฝันว่าจะมีอย่างวันนี้ (มีเงินเป็นร้อยล้านบาท) มันเกินความฝัน บางครั้งผมยังแบ่งเงินเล่นหุ้นไปซื้อกองทุน 30-40% เพราะมีความเสี่ยงต่ำกลัวจะไม่มีเงินเลี้ยงลูก (หัวเราะ) จึงต้องลดความบ้าระห่ำของตัวเองลงบ้าง"

เขาบอกว่า ก่อนหน้านี้เคยคิดจะทำอพาร์ตเมนต์ให้เช่า มีที่ดินแถวสี่แยกวังหินพื้นที่ 148 ตารางวา จะทำอพาร์ตเมนต์สูง 5 ชั้น 40-50 ห้อง เก็บค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท สุดท้ายก็ไม่ได้ทำมาคิดอีกทีว่าปัญหามันจุกจิก ปัจจุบันไม่ได้สะสมอสังหาริมทรัพย์มากมาย มีเพียงบ้านให้พ่อกับแม่และลูกสาววัย 7 ขวบ อยู่ในซอยโชคชัย 4 ส่วนตัวเองและภรรยา (นภาพร นพกรแดนไทย) อยู่ตึกแถวย่านวังหิน

"ผมคลุกคลีในแวดวงหุ้นมาเกือบ 4 ปี ได้เพื่อนดีๆ มากมาย และได้เจองานที่ชอบ คือ อาชีพนักลงทุน ผมมีความสุขทุกครั้งที่ต้องตื่นมานั่งอ่านบทวิเคราะห์ที่โบรกเกอร์ส่งมาให้อ่านทุกเช้า"

จากชีวิตที่ไม่เคยมีอะไรเลยมาจาก "ศูนย์" เคยเหลือเงินติดกระเป๋าแค่ 100 บาท วันนี้มีเป็น "ร้อยล้าน" เขาบอกว่า จากนี้ไปไม่ได้คาดหวังว่าจะมีเพิ่มอีกเท่าไร ส่วนตัวหันมานับถือศาสนาคริสต์ตามภรรยา ศาสนาคริสต์สอนว่า ความพอใจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่จำนวนของเงินตรา แต่อยู่ที่การทำให้คนรอบข้างมีความสุข มีเงินพอใช้ จากนี้ไปผมจะเป็นนักลงทุนและเป็นพ่อที่ดีของลูก

"ใครที่สนใจเล่นหุ้นแล้วรู้สึกว่า "ยาก" ให้ดูผมเป็นตัวอย่าง การศึกษาน้อย เพื่อนไม่มี ผมไม่ยากกว่าเหรอ! แต่ก็สามารถผ่านมาได้ ขอแค่เรามีความพยายาม มุ่งมั่น เชื่อผม..คุณทำได้"  นี่คือกำลังใจดีๆ จาก เซียนหุ้น ม.3 "ทิวา ชินธาดาพงศ์" จากก้อนดิน...ก้าวสู่ดวงดาว

แหล่งข้อมูล

บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ 9 สค 2554  http://bit.ly/oGPLAk

บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ 23 สค. 2554  http://bit.ly/pULMiZ